อาศิส เกิดเมื่อ พ.ศ.2490 ที่ ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา จบการศึกษาสายศาสนาจากสถาบันปอเนาะใน อ.จะนะ จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี เขาไม่ใช่ชาวไทยเชื้อสายมลายู แต่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาภาคใต้มาหลายครั้ง...”
ข้อความข้างต้นนี้คือประวัติของจุฬาราชมนตรีคนที่ 18 ของประเทศไทยที่เผยแพร่ในสื่อแทบทุกชนิดทั้งสิ่งตีพิมพ์ เว็บไซต์ วิทยุและโทรทัศน์ ภายหลังผลโหวตการสรรหาจุฬาราชมนตรีคนใหม่แทน นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ ที่ได้กลับไปสู่พระเจ้ารอฮีมมะฮุลลอฮ์ (ถึงแก่อนิจกรรม) เมื่อ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา
ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นจุฬาราชมนตรีคนใหม่คือ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา ซึ่งในประวัติบอกว่า“เขาไม่ใช่ชาวไทยเชื้อสายมลายู”
น่าแปลกที่ประโยคที่ว่า นายอาศิส จุฬาราชมนตรีคนใหม่ “ไม่ใช่ชาวไทยเชื้อสายมลายู” ถูกเผยแพร่ออกไป เพราะในศาสนาอิสลามเชื้อสายและวงศ์ตระกูลไม่ใช่สาระสำคัญเลยแม้แต่น้อย ในพระมหาคัมภีร์กุรอานกลับมีนัยแห่งคำสั่งห้ามไม่ให้หยิบยกเชื้อสายและวงศ์ตระกูลมาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะแท้ที่จริงศาสนาอิสลามยกย่องผู้ที่มีความเคารพภักดีต่อเอกองค์อัลลอฮ์ (ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) เป็นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดเท่านั้น
แต่ถ้ามองในอีกแง่มุมหนึ่ง ประวัติที่บ่งบอกถึงเชื้อสายของท่านจุฬาราชมนตรีคนใหม่ คงมีนัยยะบางประการ นั่นคือความต้องการที่จะเห็นจุฬาราชมนตรีคนใหม่มีบทบาทในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลาซึ่งขณะนี้ย่างเข้าปีที่ 7 แล้ว คนไทยทั้งประเทศจึงต่างคาดหวังบทบาทดังกล่าวจากผู้นำทางจิตวิญญาณสูงสุดของประเทศคนใหม่ ด้วยเหตุนี้เชื้อสายของท่านที่ไม่ใช่ชาวไทยเชื้อสายมลายู ซึ่งแตกต่างจากพี่น้องใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ที่มีเชื้อสายมลายู จึงไม่ควรเป็นอุปสรรคในการช่วยแก้ปัญหานี้ จึงมีการขยายความเพิ่มเติมว่า แม้ว่า “เขาไม่ใช่ชาวไทยเชื้อสายมลายู แต่ก็มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาภาคใต้มาหลายครั้ง...”
นายอาศิส พิทักษ์คุมพล เคยเป็นหนึ่งใน กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และในช่วงที่เป็นประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา ท่านก็ได้รับเลือกเป็นรองประธานกรรมการที่ปรึกษาของ สภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขชายแดนภาคใต้ ซึ่งมี นายนิมุ มะกาเจ อดีตรองประธานกรรมการอิสลามจังหวัดยะลาเป็นประธาน และจังหวัดยะลานี่เองที่เป็นผู้เสนอชื่อนายอาศิสเข้าสู่กระบวนการคัดสรรจุฬาราชมนตรีคนใหม่ 1 ใน 9 ชื่อที่ได้รับการรับรองจากกรรมการอิสลามฯ ทั่วประเทศอย่างน้อย 20 คน ซึ่งปรากฏว่าท่านเป็น 1 ใน 3 คนที่จับฉลากได้ และเป็นผู้ที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดจากกรรมการอิสลามทั่วประเทศ 423 เสียง
นอกจากนี้ นายอาศิสยังถูกระบุว่าเป็นผู้ที่มีความสนิทแนบแน่นกับพี่น้องมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ นาทวี จะนะ เทพา และสะบ้าย้อย ซึ่งมีเหตุความไม่สงบเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน เป็นเหตุให้เขาต้องเข้าไปรับผิดชอบในฐานะผู้นำศาสนาประจำจังหวัดอีกด้วย